เที่ยวพม่าต่อไม่รอแล้วนะ เที่ยวพม่า 2 เมืองย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์ ตอนที่ 1

23 มกราคม 2019, 16:58:41

เที่ยวพม่าต่อไม่รอแล้วนะ เที่ยวพม่า 2 เมืองย่างกุ้ง - มัณฑะเลย์  ตอนที่ 1



ไม่รู้อะไรดลใจให้เดินทางมาเที่ยวพม่า แต่รู้สึกว่าถึงเวลาที่ควรจะต้องมา “มิงกะลาบา” สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง พอดีมีช่วงเวลาว่างประมาณปลายเดือนกันยายนซึ่งตรงกับเทศกาลชูซอกที่เกาหลีพอดี เลยตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ แม้ว่าที่พม่าสภาพฟ้าฝนอากาศอาจจะไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ก็ตามเท่าไหร่ แต่เชื่อว่ามีอะไรที่น่าสนใจรออยู่มากมายแน่นอน มาติดตามการเดินทางครั้งนี้ไปพร้อมกันครับ



เตรียมตัวก่อนเดินทาง
วันที่เดินทาง : 23-27 กันยายน ซึ่งตรงกับฤดูฝนบ้านเราและที่พม่า
สถานที่ท่องเที่ยว : 23-24 ย่างกุ้ง, 25-26 มัณฑะเลย์
ที่พัก : โรงแรม + นอนบนรถบัสกลางคืน จองที่พักผ่าน agoda
อินเทอร์เน็ต : ใช้ AIS Sim2Fly (เติมเงิน 299 บาท) และมีซื้อซิมโทรออก-อินเทอร์เน็ตจากสนามบิน เครือข่าย ooredoo สำรองไว้ด้วย (ตารางค่าโทรมีอยู่ในเนื้อหา)
แลกเงินพม่า : แลกเงินดอลล่าร์จากบ้านเรา (ตอนแลก เป็นไปได้ให้แจ้งร้านว่าจะเดินทางไปพม่า และขอแบงค์ใหม่ ไม่มีรอยยับหรือพับ) แล้วไปแลกเป็นสกุลเงินจั๊ด (MMK) ที่สนามบิน และทยอยแลกต้ามร้านค้าในห้าง
(เรท ณ วันที่แลก $1 ได้ 1,590 จั๊ด วิธีการคำนวนเงินพม่า->เงินไทย 1,000 จั๊ดประมาณ 20 บาท)
วีซ่า : ประเทศไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวในพม่าโดยไม่ต้องมีวีซ่าได้เป็นเวลา 14 วัน

มุ่งตรงสู่ย่างกุ้งจากสนามบินดอนเมือง
เริ่มออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองด้วยไฟลท์ FD253 เครื่องออกเวลา 16.10 น. ถึงย่างกุ้ง 17.00 น. (เวลาพม่า) ใช้เวลาเดินทางรวม 1 ชั่วโมง 15 นาที (ที่พม่าเวลาช้ากว่าบ้านเรา 30 นาที)




เคาน์เตอร์เช็คอินของ AirAsia อยู่ชั้น 3 ของอาคารผู้โดยสารนอกประเทศ (Terminal 1) จะมีจุด Self check-in อยู่บริเวณหลังเคาน์เตอร์ 1 ใครที่เช็คอินมาจากบ้านแล้วสามารถมาขึ้นตั๋วได้จากตู้ Self check-in หรือ ใครที่มีสัมภาระต้องการจะโหลด ให้ไปจัดการที่เคาน์เตอร์ 2 ได้

แต่ตอนนั้นด้วยคนเยอะมาก ถ้าใครไปดอนเมืองโดยเฉพาะไฟลท์ต่างประเทศที่มักเต็มไปด้วยผู้คนตลอดเวลา จะเข้าใจดีเลยว่า หัวแถวหางแถว หายากมาก ! ดังนั้นก็ลองไปต่อแถวแล้วถามพนักงานดูเอาได้ครับ

จุดขึ้นเครื่อง Gate 8 จะต้องลงบันไดเลื่อนมาชั้นล่าง แล้วเดินไปขึ้นรถชัตเติลบัสออกมาแล้วไปขึ้นเครื่องอีกต่อ



นักท่องเที่ยวเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ เครื่องก็ลงแล้ว ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าเหนื่อยล้าจากการเดินทางเลย เครื่องลงปุ๊บ เราก็สามารถเที่ยวต่อได้ทันที

การเข้าพม่า ไม่ต้องกรอกเอกสารเข้าเมือง ครับ แต่จะต้องกรอกเอกสารสำแดงสิ่งของ หากนำสิ่งของที่มีมูลค่าสูง เช่น สกุลเงินต่างประเทศที่มากกว่า 10,000 ดอลลาร์ หรือ นำเพชร ทอง ติดตัวมาด้วย จะต้องยื่นสำแดงสิ่งของ


ใบสำแดงข้าวของก่อนเข้าพม่า

เมื่อถึงท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง Yangon International Airport (RGN) แล้ว เดินมาตามทาง ก็จะเป็นตม. ประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนก็จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าช่องทางพิเศษ ประหยัดเวลาไปเยอะเลย ตม.ที่นี่ก็ไม่โหด ไม่ถามปัญหาสุขภาพ ประทับตราให้อย่างเดียว

ออกมาจากจุดรับกระเป๋าแล้วก็จะเห็นจุดรับแลกเงิน ซึ่งสามารถเริ่มแลกเงินได้ทันทีจากที่สนามบิน ส่วนเรทนั้นส่วนตัวคิดว่าไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก เงินพม่าตอนนั้นขึ้นๆลงๆอยู่เรื่อยๆในช่วงนี้ คิดว่าควรแลกจำนวนหนึ่งไว้ เผื่อว่าระหว่างทางจะหาที่แลกเงินยาก ข้อควรระวังเกี่ยวกับการแลกเงินพม่าก็คือ “ไม่ควรเหลือ” เพราะว่าการแลกคืนนั้นจะได้น้อยมากๆ เรทไม่คุ้มสำหรับการแลกกลับคืน



และสำหรับเรื่องอินเทอร์เน็ต ก็มีร้านขายซิมสำหรับโทรและอินเทอร์เน็ตอยู่หลายค่ายเช่นกัน ค่ายหลักๆก็จะมี MPT, Telenor, MyTel และ ooredoo ให้เลือก ด้วยความที่ไม่ได้ไปสำรวจทั่วพม่า ก็ไม่สามารถบอกได้เลยว่าค่ายไหน บริเวณไหนมีสัญญานเป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์การใช้งานจริงๆของค่าย ooredoo ก็พบว่าแพ็คเพจอินเทอร์เน็ตมีให้เลือกค่อนข้างเยอะ จุดอับสัญญานอาจจะมีบ้างแต่ก็ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานเท่าไหร่

ส่วนซิมจากไทยอย่าง AIS Sim2Fly จะว่าไปการใช้งานมีสัญญานหายๆนิดหน่อย แก้โดยเลือกสัญญานให้ไปใช้ของค่ายใดค่ายหนึ่ง อย่างตอนนั้นผมมาเปลี่ยนไปใช้เป็น ooredoo ไปเลย หรือบางทีดับนานๆ ปิดเปิดมือถือก็จะหาย แต่ก็เป็นช่วงๆเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่าติดขัดมากเท่าไหร่


ตารางแพ็คเกจมือถือค่าย ooredoo ที่สามารถซื้อได้จากสนามบินย่างกุ้ง

เราเดินทางมาพร้อมกับฝน ก็แอบกังวลใจเบาๆว่าจะทำแผนล่มหรือเปล่า ตอนแรกจะนั่ง Grab ให้ไปส่งถึงที่ที่พักซึ่งอยู่แถวๆ China town ใจกลางย่างกุ้ง แต่พอดูราคาแล้ว ถ้าออกจากสนามบินไปถึงที่พักเลยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 7-8 พันจั๊ด ซึ่งเทียบกับรถบัส Airport Bus ที่พม่าพึ่งเปิดใช้บริการมา พบว่า ถูกกว่ากันเยอะ! เพราะราคาอยู่ที่ 500 จั๊ดเท่านั้นเอง เป็นบัสจากสนามบินย่างกุ้งวิ่งเข้าตัวเมือง ราคาเดียว 500 จั๊ดตลอดสาย คิดเป็นเงินไทยก็แค่ 10 บาทเอง ที่นั่งกว้าง แอร์เย็นดี


จุดขึ้นรถบัสเข้าเมือง ออกมาจากสนามบินแล้วเดินตรงมาที่จุดขึ้นรถบัส

ออกมาจากประตูสนามบิน ตรงมาเรื่อยๆจะมีเกาะกลางถนน ฝั่งตรงข้ามจะเป็นจุดจอดรถบัสเข้าเมือง (หน้าตาของรถบัสก็จะเป็นแบบด้านบน)


หน้าตาภายในรถบัสจากสนามบินย่างกุ้ง เข้าตัวเมือง สภาพใหม่แบบนี้ว่ากันว่าเพิ่งจะเริ่มเปิดใช้ล่ะ

และด้วยความที่รถบัสสายนี้ยังไม่เป็นที่รู้ในหมู่มากของคนพม่ามากคนเลยไม่ค่อยเยอะ

นั่งไปลงที่ สถานี Sule square เป็นเหมือนใจกลาง และใกล้กับจุดที่เราสามารถขึ้นแท็กซี่และเดินทางต่อไปโรงแรมได้ใกล้ที่สุด การทำแบบนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะพอสมควร


เคลื่อนย้ายสัมภาระ และมาเช็คอินที่โรงแรม ที่ย่างกุ้งมาพักที่โรงแรม “The Hotel Mawtin”  โรงแรมตั้งอยู่ใกล้กับถนนคนเดินยามค่ำคืนของเมืองย่างกุ้ง อีกทั้งยังใกล้กับช็อปปิ้งมอลล์ขนาด 5 ชั้น Junction Mawtin ด้วยที่มีก็มีซุปเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ ยังมีร้านค้า ร้านอาหาร ให้เดินตากแอร์กันเล่นๆ ก็ถือว่าเหมาะกับการพักผ่อน และยังสะดวกกับการเดินทางอีกด้วย


ล็อบบี้ของโรงแรม



สั้นๆเกี่ยวกับโรงแรม ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานครบ แปรงสีฟัน สบู่ น้ำดื่ม (ในตู้เย็นไม่ฟรี) ชา กาแฟ กาต้มน้ำ มีทีวี แอร์ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ห้องก็กว้างขวางสะดวกสะบาย มีอินเทอร์เน็ต ได้เป็นคูปอง wifi มา ความเร็วก็เร็ว สามารถทำงานได้ วิวที่เห็นได้วิวเป็นตึกรามบ้านช่องแถวนี้ ก็ถือว่าโอเคอยู่สำหรับที่พักครับ

ตกดึกเราก็เดินจากที่พักมาทางซอย 19 ของย่านไชน่าทาวน์ ร้านค้าตรงนี้ก็ทยอยๆปิดกันหมดแล้ว รวมไปถึงแหล่งช็อปปิ้งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอย่างตลาดสก๊อต (Scott Market) ก็ปิดไปตั้งแต่ 5 โมงเย็นแล้ว

เเผนที่


เราเลยมาเดินหาอะไรทานที่ซอยนี้ เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นซอยที่คึกครื้นที่สุดกว่าซอยอื่น



ตรงไปก็จะเป็นซอยเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยอาหาร ของกินเล่น ร้านขายเบียร์อยู่ยาวสุดซอย คล้ายๆกับตลาดกลางคืนบ้านเรา อาหารที่จะเห็นเยอะที่สุดก็จะเป็น หม่าล่า


บรรยากาศในร้านอาหารซอย 15

การตัดสินใจของเราที่จะเข้าแต่ละร้านก็ไม่ยาก ดูหน้าตาอาหารจากหน้าร้านว่ามีอะไรน่ากินบ้าง เราก็มาเจอสารพัดไม้ ปิ้งย่างตรงนี้ สามารถเลือกได้ตามความอยากเลย ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นเครื่องในหมู ผัก ซี่โครงบ้าง มีเนื้อปะปนกันไป ก็หยิบเลือกให้เขาไปปรุงอาหารได้เลย



เดินขึ้นมานั่งบนชั้น 2 ของร้าน ที่เป็นห้องแอร์ เสร็จแล้วเขาก็มาเสิร์ฟถึงโต๊ะแบบนี้ จะดื่มกับเบียร์ของพม่าก็น่าจะฟิน แต่วันนั้นสภาพไม่เอื้ออำนวยเลยขอบายไปก่อน เสิร์ฟพร้อมน้ำพริกและน้ำจิ้ม รสชาติก็ใช้ได้เลย กินเพลิน เหมือนกับกินเครื่องในจิ้มน้ำพริกบ้านเรา



1 จานใหญ่ๆ สั่งมาหลากหลาย ทั้งหมดนี้หมดไป 22,800 จั๊ด (ประมาณ 470 บาท) กับน้ำผลไม้แก้วละ 2,000 จั๊ด (ประมาณ 40 บาท)

กินอิ่มแล้วก็ตรงกลับโรงแรม เตรียมพร้อมเดินทางสำรวจเมืองในวันต่อไป

เดินทางเที่ยวทั่วย่างกุ้งด้วย Grab
การเดินทางที่นี่ก็เรียกว่าแสนจะสะดวกสบายเมื่อมี Grab มาอำนวยความสะดวก สำหรับคนที่ไม่ประสีประสากับเส้นทาง เราก็ใช้วิธีการค้นหาจากใน Google Maps ก่อนแล้วค่อยมาเรียกรถในแอพ Grab ต่อ

สำหรับเช้านี้เราฝากท้องไว้กับบุฟเฟ่ต์อาหารที่โรงแรม ที่ชั้นบนของโรงแรมที่สามารถเห็นวิวแม่น้ำ และวิวทิวทัศน์ของย่างกุ้ง



อาหารเช้าของโรงแรมก็ง่ายๆ มีกับข้าวประมาณ 4-5 อย่าง มีขนมปัง น้ำผลไม้ ผลไม้ (กล้วย, สัปปะรด, แตงโม) มีพนักงาน 2-3 คน บริการดีมาก ชงกาแฟให้เสิร์ฟถึงโต๊ะ (ส่วนกาแฟก็เห็นว่าทีนี่กินกาแฟเนสกาแฟ, เขาช่อง บ้านเรา)


วิวจากห้องอาหารของโรงแรมที่เห็นบ้านเรือน เอาจริงๆแล้วแอบเห็นเจดีย์ชเวดากองเลย ~

แผนในวันนี้หลักๆเป็นการเที่ยวเจดีย์ วัดวาอารามต่างๆที่อยู่ในย่างกุ้ง แต่ด้วยความที่อยากให้ทริปมันได้ภาพออกมาสวยๆ และได้บรรยากาศมากขึ้นกว่าเดิม ช่วงเช้านี้เลยอยากจะไปตามหาพรอพให้พร้อมก่อน ภาพที่ทุกคนจะต้องได้เห็นเมื่อเดินทางมาเที่ยวที่พม่าก็คือ ภาพผู้คนเดินไปมานุ่งโสร่ง เราก็อยากมีสักภาพที่ให้ดูกลมกลืนกับคนในท้องถิ่นบ้าง เลยพยายมาตามหาร้านที่ขาย (จริงๆรู้มาว่าตลาดสก๊อตเป็นแหล่งช็อปปิ้งเสื้อผ้าขนาดใหญ่เลย แต่ไม่เปิดในวันจันทร์) เลยไปสอบถามกับพนักงานเคาน์เตอร์ที่โรงแรมดู ก็ได้คำตอบว่า ให้ลองไปดูที่ “Sein gay har” (อ่านว่า เซน์เกฮา) ซึ่งเป็นห้างเล็กๆที่มีสาขาอยู่ทั่วย่างกุ้ง ไม่ไกลมากจากที่พัก เราก็ได้ทำการเรียก Grab จากที่พักไปยังห้างนี้ 900 เมตร หมดไป 1,500 จั๊ด (30 บาท)

เเผนที่


ขอบอกว่า Sein gay har สาขานี้ค่อนข้างเล็ก เป็นตึกแถวเล็กๆ มีซุปเปอร์ขนาดย่อม ร้านค้าขายผ้าของทั้งผู้ชายและผู้หญิงอยู่ข้างในด้วย


มีหลายแบบให้เลือกในตู้ แล้วแต่ความชอบเลย ได้มาในราคาผืนละ 7,000 จั๊ด (140 บาท)

TIPS : โสร่งของผู้ชายเรียกว่า “ปะโซ” และของผู้หญิงจะเรียกว่า “ทะเหม่ง์”

เมื่อได้มาแล้วก็ควรศึกษาว่าวิธีการใส่เป็นยังไง เอาจริงๆก็มืดแปดด้านและเขินอายอยู่พอสมควร เราก็ให้ที่ร้านทำให้ แต่ก็ลืมวิธี และเอาเข้าจริงๆด้วยความไม่คุ้นเคยกับการใส่และเดิน ก็รู้สึกรำคาญอยู่บ้าง แต่เอาล่ะ เพื่อรูป!

พระมหาเจดีย์ชเวดากอง
เดินมาเรียก Grab ที่หน้าห้างแล้วเดินทางต่อ เราจะมุ่งหน้าไปที่เจดีย์ชเวดากอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ด้วยความที่รถแถวนี้สัญจรไปมาตลอดเวลา ทำให้เราหา Grab ที่เรียกมาไม่เจอ จนกระทั่งถูกปฏิเสธไป ตอนนั้นเรียกมาในราคา 2,300 จั๊ด ก็พอมีเกณฑ์ในใจเรื่องราคาบ้าง เพื่อนญี่ปุ่นที่เดินทางมากับผมด้วยเกิดอาการทนไม่ไหว ไม่ยอมรอ เอาเครื่องคิดเลขมากดเป็นเลข 2,200 แล้วยื่นให้แท็กซี่แถวนั้นแทน จนมีคันที่ยอมพาเราไป ก็เลยได้นั่งรถแท็กซี่ไปถึงเจดีย์ สิ่งที่จะสังเกตได้เลยคือ แท็กซี่ทั่วไปที่ไม่ใช่ Grab ไม่ค่อยชอบเปิดแอร์ ทั้งๆที่อากาศร้อนมากกก… ร้อนแบบนี้เขาทนกันได้ยังไง


วิวเจดีย์ชเวดากองจากไกลๆ

รถแท็กซี่ไปจอดตรงทางเข้าพอดี ตั้งแต่โซนตรงนี้เราก็เริ่มต้องถอดร้องเท้าเดินกันแล้ว ก็เดินไปทางซื้อตั๋ว โดยมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชมคนละ 10,000 จั๊ด (ประมาณ 200 บาท) โดยจ่ายแล้วเราก็จะได้ตั๋วเข้าชมและมีพื้นที่สำหรับวางรองเท้า จากนั้นก็จะมีทางสำหรับขึ้นลิฟต์ (ซึ่งปกติลิฟต์จะอำนวยให้กับผู้สูงอายุ แต่คนต่างชาติจ่ายเงินด้วยเลยอำนวยความสะดวกเป็นลิฟต์ให้)


ทางเข้า





สวยงามและอลังการ อย่างที่เราทราบกันครับว่า มหาเจดีย์แห่งนี้เป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญต่อชาวพม่า และมีความศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การมากราบไว้สักครั้งในชีวิต ยอดของเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้นและเพชรตามความเชื่อ จึงสามารถพบเห็นทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเดินทางมาชมความงดงาม แต่ตอนที่เราไปโชคก็ไม่ได้เข้าข้างเพราะก็มีส่วนที่เขากำลังบูรณะซ่อมแซมอยู่

รอบเจดีย์ก็จะมีพระธาตุตามวันเกิดให้เราได้ไปสรงน้ำ โดยจำนวนครั้งที่เราจะต้องสรงน้ำก็ตามจำนวนวันเกิด +1 ครั้ง ใช้เวลาอยู่ตรงนี้สักพัก สรงน้ำพระ ไหว้พระ ชมพิพิธภัณฑ์ แล้วก็วนกลับมาที่เดิม

วัดพระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี
นั่ง Grab มาต่อที่ วัดพระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี (Kyauk Htat Gyi Reclining Buddha) วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยในชื่อ “วัดพระนอนตาหวาน” ซึ่งความสำคัญคือเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในพม่าเลย แต่โชคก็ไม่ได้เข้าข้างเรา  เพราะ 
พวกเราก็เลยได้แต่ชมความอลังการโดยรอบ นั่งพักเหนื่อยอยู่ได้แปปเดียว ทางเข้าก็จะเต็มไปด้วยร้านขายสินค้าที่ระลึก เราสามารถถอดรองเท้าแล้วนำมาฝากไว้ก่อนเข้ามาบริเวณโถง วัดนี้ไม่เก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าชมครับ



ทานข้าวเที่ยงที่ Rangoon Tea House
ถึงเวลาอาหารเที่ยงพอดี อยากเติมเต็มกระเพาะและตบด้วยกาแฟดีๆ เราเลยนั่งรถตรงมาที่ Rangoon Tea House น่าจะเป็นร้านอาหารที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี จากรีวิวที่มากมายบนอินเทอร์เน็ต นั่งรถจากวัดพระพุทธไสยาสน์เจาทัตยี เรียก Grab ไปถึง Rangoon Tea House หมดไป 3,200 จั๊ด (65 บาท)


บรรยากาศบ้านเมือง อาคารต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากการถูกครอบครองโดยอังกฤษ

และแล้วก็มาถึงร้าน คนไม่แออัดมาก ไม่ต้องรอคิว … อาจเป็นเพราะเป็นวันธรรมดาด้วย



อาหารก็มีตัวเลือกค่อนข้างหลากหลาย ทั้งอาหารพื้นเมือง ฟิวชั่น เครื่องดื่มมีให้เลือกทั้งชาและกาแฟ จุดเด่นของร้านขึ้นชื่อว่าเป็น “Tea house” ก็จะมีตัวเลือกเยอะหน่อย


Tea leaf chicken curry (set) 9,500 จั๊ด


Cafe Latte 2,700 จั๊ด


Coconut Noodle (set) 5,700 จั๊ด


Tea Leaf Pork Neck 7,500 จั๊ด

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม ลงภาพอาหารลงเยอะเป็นพิเศษ อาจจะเป็นเพราะมันคือช่วงเวลาที่มีความสุขที่ได้ไปตระเวนหาของกิน ทุกเมนูอาหารรสชาติเยี่ยมเลย ถูกใจเป็นพิเศษก็บะหมี่น้ำกระทิ ที่รู้สึกว่ามันข้นๆเหมือนกินแกงกะทิบ้านเรา (เที่ยวพม่าแต่ก็ยังโหยหาอาหารไทยอยู่) กาแฟลาเต้ที่สั่งมา ไม่ได้เย็นสะใจเหมือนกับบ้านเราเท่าไหร่ แอบไปสืบมาว่าคนพม่าเองไม่ได้ใส่น้ำแข็งลงในเครื่องดื่มเต็มๆ เยอะๆ เหมือนกับบ้านเรา ทำให้ดื่มยังไงก็ไม่รู้สึกสดชื่นนะ


บรรยากาศภายในร้าน Yangon Tea House

จบจากมื้อนี้แล้ว ว่าจะตรงต่อไปที่ เจดีย์โบตาทาวน์ (Botahtaung Pagoda) แต่เพื่อนเกิดอยากแลกเงินเพิ่ม เลยตัดสินใจเดินเที่ยวรอบเมืองตามหาร้านแลกเงิน แต่ก็ไม่เจอที่ถูกใจ (เจอแต่ธนาคารใหญ่ๆ ซึ่งเพื่อนไม่ยอมแลกกลัวเรทไม่ดี) เดินไปต่อเรื่อยๆ สุดท้ายทนกับความร้อนไม่ไหว เลยเปลี่ยนแผนขอไปเที่ยววัดให้จบก่อน แล้ววางแผนไปแลกในห้างใกล้โรงแรมอีกที


เสร็จสิ้นจากตรงนี้แล้ว ออกมาหน้าวัด เดินมาฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นที่ตั้งของเทพกระซิบครับ ก็จะเลือกไหว้หรือจะบูชา ไปกระซิบก็ได้ แต่ต้องทำผ่านร่างทรงอีกครั้ง เราก็จะต้องไปซื้อชุดบูชาเป็นน้ำดื่มราคา 2,000 จั๊ด เพื่อที่จะไปบูชาเทพกระซิบ



ก็ว่ากันว่าเรื่องราวของเทพกระซิบ เป็นเรื่องราวของหญิงผู้ถือศีล ไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต และกลายเป็นเทพเมื่อเสียชีวิตไป เป็นที่เคารพของผู้คนที่นี่ แต่ที่มาของ “การกระซิบ” นี้ ว่ากันว่า พี่ไทยเป็นคนเริ่มก่อน หลังจากมีหัวหน้าทัวร์พม่าใช้วิธีกระซิบเวลาขอพร เนื่องจากแต่ก่อนบริเวณตรงนี้เต็มไปด้วยผู้คนขายของ เสียงจึงดังไปหมด หัวหน้าทัวร์คนนี้เลยนำขบวนบอกให้ทุกคนใช้วิธีการกระซิบเวลาขอพร จนเป็นที่พูดถึงหลังจากที่มีคนสมหวังกับสิ่งที่ได้ขอไป ก็เป็นที่เล่าขานกันมาเรื่อยๆ เอาว่า ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลครับ

เสร็จจากตรงนี้แล้ว ตรงไปอีกไม่ไกลมาก ก็จะเป็นวิวแม่น้ำให้ไปถ่ายรูปเล่นได้ ถ้าเวลาเหลืออยู่ก็มาเดินกินลมชมไม้กันได้ครับ



เสร็จภารกิจทัวร์วัดในย่างกุ้งแล้วครับ เราเช็คเอาท์และฝากกระเป๋าไว้ที่โรงแรม แผนของเราต่อไปคือ เตรียมเดินทางไปมัณฑะเลย์ต่อ ด้วยรถบัสกลางคืนครับ เลยนัดกับแท็กซี่ที่เจอให้มารับที่โรงแรมตอน 1 ทุ่ม

เราเลยรีบไปหาอะไรกินก่อนเดินทางยาวครับ มาแวะที่ห้าง Junction Mawtin ในร้านชาบูชาบู ร้าน Shwe Kaung Hot Pot ให้อารมณ์เหมือน Family restaurant เป็นหม้อไฟ ที่มีหม้อแยกให้ แล้วให้เราไปเลือกของจากตู้ได้ ซึ่งก็จะมีราคาติดเอาไว้ ราคาก็จะต่างกันตามสีของถาด มีหมดเลยพวกลูกชิ้น ผักต่างๆ ซีฟู้ด หมู เนื้อ


ราคาไม่แพงมาก กินกัน 3 คน หมดไปทั้งหมด 17,000 จั๊ด (350 บาท)

รสชาติซุปส่วนตัวรู้สึกว่ามันยังแปลกๆ เลยไม่ได้กินเต็มที่เท่าไหร่ และรู้สึกว่าไม่ได้สดใหม่มาก ด้วยความว่าจะต้องเดินทางนานเลยไม่ได้กินเยอะครับ จากนั้นก็กลับไปโรงแรม ล้างหน้า แปรงฟัน… ก่อนจะเดินทางไปที่ สถานีรถบัส Aung Mingalar Highway Bus station (อ่านว่า อ่าวน์ มิงกาลา บัส สเตชั่น) ซึ่งเป็นแหล่งที่รวมบริษัทรถเดินทางขนาดใหญ่ (แต่อยู่ไกลจากตัวเมืองมากกกก และยังมืด ถนนไม่ค่อยดี)

เดินทางจากย่างกุ้ง ไป มัณฑะเลย์..
เราทำการบ้านมาเล็กน้อยเกี่ยวกับการเดินทางไปมัณฑะเลย์ เราพบว่า…

1 การเดินทางไปมัณฑะเลย์ สามารถไปมัณฑะเลย์ เราสามารถนั่งรถไฟ หรือ นั่งรถบัสกลางคืนไปได้
1.1 ถ้าอยากกินลมชมไม้ ก็อาจจะต้องยอมเสียเวลานั่งรถไฟไป ซึ่งใช้เวลาร่วมๆ 10-12 ชั่วโมง แต่ด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้เราเลือกเดินทางด้วยรถบัสกลางคืน
2 จากย่างกุ้งสู่มัณฑะเลย์ ระยะเวลาเดินทางบนรถบัสกลางคืนร่วมๆ 9 ชั่วโมง รถบัสกลางคืนของที่นี่จึงกว้าง พร้อมปรับนอน และมีจอทีวีส่วนตัว ที่ชาร์จแบต ขนม น้ำต่างๆไว้ให้บริการ
3 ออกรถจากที่นี่ 2-3 ทุ่มก็จะไปถึงมัณฑะเลย์ช่วงเช้า ประมาณ 6-7 โมงเช้า ทำให้เราสามารถประหยัดค่าโรงแรมได้
4 เราสามารถจองรถบัสผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งก็มีเว็บไซต์หลายเว็บไซต์ภาษาอังกฤษที่เปิดจองสำหรับชาวต่างชาติ แต่ก็อาจจะมีราคาสูงหน่อย ค่าตั๋วรถแบบพิเศษ Full option อยู่ที่ประมาณ 22,300 จั๊ด/คน/เที่ยว ถ้าเจอราคาประมาณนี้ในอินเทอร์เน็ต ก็ถือว่าเป็นราคาที่รับได้ เราสามารถไปจองที่สถานีได้เช่นกัน แต่ให้ทำการบ้านเกี่ยวกับบริษัทรถ เนื่องจากว่ามีหลายค่ายและจุดจอดจะอยู่คนละที่กัน ทำการบ้านไปก่อนว่าจะไปนั่งของสายไหน ทำให้เราสามารถคุยกับคนขับแท็กซี่ให้ไปส่งลงให้ถูกที่ได้เอกสารที่ใช้ในการจองที่นั่ง : 1. พาสปอร์ตของผู้เดินทาง 2. เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ (ถ้าเกิดซื้อซิมที่สนามบินแล้วได้เบอร์มา ก็ให้เบอร์ของเราไปก็ได้)


จุดจำหน่ายตั๋วรถบัสของบริษัท Elite Express

พี่แท็กซี่ที่มาส่งเราถึงที่สถานีขนส่งก็ใจดี ให้คำแนะนำต่างๆมากมาย พาเราไปซื้อตั๋ว สื่อสารกับเราด้วยภาษาอังกฤษอย่างฉะฉาน ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย และโล่งใจว่าจะไปถึงมัณฑะเลย์อย่างปลอดภัย บอกก่อนว่ารถที่นี่คนเต็มอยู่เรื่อยๆ ถ้าเกิดเวลาเดินทางของเราแน่น อยากให้มาจองไว้เนิ่นๆ หรือมาก่อนเวลา เพราะรอบที่เราได้ตอนนั้นก็ได้รอบ 22.30 น. ซึ่งแอบดึก ต้องนั่งตบยุงรอกันสักพักเช่นกัน


พี่คนขับใจดีอยู่ส่งเราจนทุกอย่างเสร็จดีเรียบร้อย ให้คำแนะนำอย่างดี เลยขอถ่ายรูปด้วยซะหน่อย เพิ่งรู้ว่าวันนี้คือวันเกิดพี่เขาอีกต่างหาก!

รถมาถึงแล้ว… ใครที่มีสัมภาระก็ส่งให้เขาใส่ใต้ท้องรถได้เลย เราจะได้ tag มา เพื่อรับกระเป๋าเมื่อถึงปลายทางแล้ว


หน้าตารถบัสกลางคืนแบบ VIP ของบริษัท Elite Express


ภายในรถ ที่นั่งเป็นแบบ 1-2 มีจอโทรทัศน์สามารถชมภาพยนตร์ เสียบชาร์จแบตเตอรี ดูพิกัด GPS ได้

การบริการก็เหมือนกับรถทัวร์ในบ้านเรานะครับ เก้าอี้กว้างสบายเลยล่ะ นั่งได้สักพักเขาก็จะมาเช็คชื่อ เช็คที่นั่งของเรา และเสิร์ฟขนม (ขนมปัง) เสิร์ฟน้ำ ส่วนเรื่องของความนิ่มของคนขับ ถือว่าโอเค ไม่ผาดโผนอะไรเท่าไหร่ (หรือว่าเราหลับลึกก็ไม่มั่นใจ)

รถออกตรงเวลา 22:30 น. และไปจอดพักที่จุดพักรถให้เข้าห้องน้ำ (เขาจะแจกชุดแปรงฟันให้) หรือใครหิวก็กินข้าวได้ มีร้านอาหารอยู่ โดยมีเวลาตรงนี้ประมาณ 30 นาที ใครไม่ปวด ไม่อยากกิน ไม่อยากทำอะไร ก็ต้องลงรถหมด เพราะว่าเขาจะดับเครื่องพักรถด้วย


จุดพักรถก็มีร้านอาหารจำหน่ายด้วย ถ้ากินทันก็กินได้เลย…

นั่งรถกันไปต่อยาวๆ ตลอดเส้นทางมืดมน ไม่เห็นอะไร แต่ช่วงเวลาที่ใกล้ถึงสักหกโมงครึ่ง เราก็จะค่อยๆเริ่มเห็นแสงพระอาทิตย์กำลังค่อยๆขึ้น วิว ทิวทัศน์ของบ้านเมืองกันแล้ว



จุดจอดรถบัส ไม่ว่าจะที่ย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ก็ไม่ได้น่ารักเท่าไหร่ เพราะทางไม่ค่อยดี ด้วยความที่เที่ยวทั้งวันไม่ได้อาบน้ำ เลยอยากจะกลับไปอาบน้ำที่โรงแรมก่อน เลยใช้ Grab เรียกมาจากสถานีรถบัส Mandalay Bus Station ให้ไปส่งที่โรงแรม อาบน้ำ เตรียมข้าวของ ก่อนเราจะมีนัดกับไกด์ที่ล็อบบี้ของโรงแรม

การเดินทางท่องเที่ยวในมัณฑะเลย์แบบเต็มรูปแบบ เราจะมาเล่ากันต่อในตอนหน้า หวังว่าเพื่อนๆจะได้ไอเดียสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในพม่ากันนะครับ

ติดตามตอนที่ 2 ได้ที่ facebook : เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน

 
ที่มา : www.framekung.com

 

 

 



**************************************************
บริการจัดทัวร์ 
ทัวร์เชียงตุง ทัวร์เมืองยอง ทัวร์สิบสองปันนา ทัวร์คุนหมิงจีน ทัวร์หลวงพระบาง ทัวร์วังเวียงลาว ทัวร์มัณฑเลย์ ทัวร์พุกาม ทัวร์ทะเลสาบอินเล ทัวร์ตองจี ทัวร์รัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

ตำนานเชียงตุงยุคที่3ศึกพญามังราย

แต่ละพื้นที่ หรือ แต่ละภาคก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นเรื่องในวันนี้ที่นำมาฝากกันค่ะ วันนี้นำ เรื่อง ตางผีเตียว หรือ ทางผีผ่าน ความเชื่อโบราณทางภาคเหนือ มาฝากทุกท่านค่ะ อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ลองเข้าไปอ่านได้เลยครับ

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน